เพลงเรือ
โดย สุขสันติ แวงวรรณ
เพลงเรือจัดเป็นเพลงพื้นบ้านที่ต้องอาศัยปฏิภาณไหวพริบค่อนข้างสูง
เนื่องจากผู้แสดงไม่สามารถที่จะแสดงท่าทางเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้ชมได้ด้วยข้อจำกัดของกิริยาที่อยู่บนเรือ
พ่อเพลงแม่เพลงนิยมเล่นเพลงเรือกันในเดือน 11 คือตั้งแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป
เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นฤดูน้ำหลาก น้ำเหนือไหลบ่าเข้าท่วมท้องทุ่ง
น้ำในแม่น้ำลำคลองก็เต็มตลิ่ง บ้างก็เอ่อล้นตลิ่งทำให้การสัญจรไปมาต้องใช้เรือเป็นพาหนะ
ในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่วัดต่างๆ นิยมจัดงานนมัสการพระทอดกฐินหรือทอดผ้าป่า
ลูกหลานที่จากบ้านไปทำงานแดนไกลก็จะถือโอกาสกลับมาเยี่ยมบ้านและรวบรวมเงินจากผองเพื่อน
ตั้งเป็นองค์กฐินหรือผ้าป่าตามกำลังศรัทธา พ่อแม่พี่น้อง ลุง ป้า หรืออุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย
ก็จะพายเรือไปรวมตัวกันที่วัด เพื่อรอรับองค์กฐินและลูกหลานกลับสู่มาตุภูมิ
เมื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเรียบร้อยแล้วผู้ที่มีฝีมือทางด้านรำร้องก็ร่วมกันเฉลิมฉลอง
แต่ด้วยสภาพพื้นที่ที่เต็มไปด้วยน้ำ การประคารมบนเรือน่าจะทำได้ดีและเหมาะสมที่สุด
พ่อเพลงแม่เพลงก็จะประฝีปากกันกลางสายน้ำ โดยเนื้อหาในการเล่นเพลงเรือขึ้นอยู่กับโอกาส
สถานที่ พ่อเพลงแม่เพลงจะนำเอาเรื่องราวในอดีต เหตุการณ์ปัจจุบัน วรรณกรรมพื้นบ้าน
หรือวิถีชีวิต แม้กระทั่งเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ก็สามารถนำมาเรียงร้อยเป็นบทร้อง
โต้ตอบกันได้เพื่อชิงไหวชิงพริบกัน ผู้ฟังก็จะได้ความรู้จากการนั่งชมเพลงเรือกันอีกทางหนึ่งด้วย
บ่อยครั้งที่มีพ่อเพลงแม่เพลงเดินทางมาจากหมู่บ้านใกล้เคียงมาร่วมประฝีปาก
หรือบางทีก็อาจเดินทางจากแดนไกล เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง
มาร่วมเล่นเพลงร้องแก้กันอย่างสนุกสนาน ในบางครั้งกว่าจะเลิกราต่อกันก็กินเวลาไปค่อนรุ่งทีเดียว
………………………………….
………………………………….
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น