วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

แนวคิดในการวิจัยและการสร้างสรรค์ทางศิลปะบริสุทธิ์

แนวคิดในการวิจัยและการสร้างสรรค์ทางศิลปะบริสุทธิ์

ผลงานศิลปะอาจจะเป็นผลมาจากการศึกษาค้นคว้า มีการศึกษาค้นคว้าก่อนที่จะสร้างสรรค์งานศิลปะ แต่ผลงานศิลปะอาจจะไม่เกิดจากการศึกษาค้นคว้า เป็นแต่เพียงงานประดิษฐ์หรืองานทักษะเท่านั้นก็ได้ ในขณะที่งานวิจัยคืองานที่เกิดจากการศึกษาค้นคว้าเพื่อแสวงหาความรู้ นำความรู้นั้นมาวิเคราะห์แยกแยะ และสังเคราะห์ขึ้นเป็นองค์ความรู้ใหม่ซึ่งองค์ความรู้ใหม่ไปสู่สาระประโยชน์ทางด้านต่างๆ ก็ได้

ผลงานศิลปะไม่ใช่งานวิจัยโดยตรง แต่อาจจะเป็นผลจากการศึกษาค้นคว้าหรือเป็นผลจากองค์ความรู้ใหม่ก็ได้ ซึ่งการสร้างสรรค์งานศิลปะตามแนวทางของกระบวนการวิจัย ก็ได้มีการถือปฏิบัติกันพอสมควร ในลักษณะของการวิจัยและพัฒนา (Research and Development, R&D) ซึ่งใช้กระบวนการแสวงหาความรู้ความคิดและข้อมูลเป็นเบื้องต้น หลังจากนั้นจึงพัฒนาความรู้ ความคิดและข้อมูลที่ได้ สร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะ เป็นกระบวนการที่ใช้ฐานความรู้ผลักดันการสร้างสรรค์ศิลปะ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นผลงานศิลปะเกิดจากองค์ความรู้ใหม่นั่นเอง

ความพยายามที่จะใช้ผลงานศิลปะในลักษณะหนึ่งแทนงานวิจัย จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นได้ เพราะผลงานศิลปะ (Work of Art) ต่างไปจากงานวิจัย(Research) เว้นเสียแต่ว่าผู้เสนอผลงานศิลปะจะใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนา (R&D) ดังกล่าวข้างต้น หรือต้องอธิบายกระบวนการคิดและการสร้างสรรค์เป็นลายลักษณ์อักษร ประกอบผลงานศิลปะให้เห็นชัดว่า ได้มีการศึกษาค้นคว้ามีองค์ความรู้ใหม่ มีกระบวนการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ ที่เกี่ยวข้องกับผลงานศิลปะนั้น การนำเสนอของเอกสารก็ควรจัดระบบความรู้ความคิดให้มีระบบแบบแผนที่ดีอาจเป็นไปตามแนวทางของงานวิจัยที่นิยมกัน

งานศิลปะบริสุทธิ์(Fine Art ) มีความแตกต่างกับงานออกแบบ(Design) ซึ่งจัดว่าเป็นประยุกต์ศิลป์หรือเป็นการสร้างสรรค์งานตามหลักการที่เป็นจริง เป็นขั้นตอน สามารถพิสูจน์และแสดงวิธีคิด สามารถสื่อแสดงวิธีการจัดการให้ประจักษ์และสอบทาน มีการอ้างอิงได้จริง

ดังนั้นการที่นักศึกษาแสดงหลักฐานการคิดและการทำงาน เพียงแสดงแค่ร่องรอยการขีดเขียนเป็นเพียงลายเส้นสาย จึงเป็นเพียงแค่การแสดงรูปร่างคร่าวๆของความคิดและจินตนาการในเรื่องที่ยังเป็นไปไม่ได้ เป็นเพียงรูปแสดงแทนความคิดที่ยังไม่ได้ขัดเกลาหรือใช้เหตุผลที่เป็นจริงเข้าไปประกอบร่วมนั่นเอง

การใช้ระเบียบวิธีวิจัยเข้ามาใช้ร่วมเป็นแนวทางการสร้างสรรค์ ก็จะทำให้การบันทึกแห่งความคิดของเรานั้น สามารถสื่อแสดงออกไปสู่แนวทางที่เป็นวิทยาศาสตร์ ที่นำไปสู่การได้รับการยอมรับอย่างเป็นวิชาการ ได้อย่างผสมกับกลมกลืนไปกับระเบียบวิธีของการสร้างสรรค์ทางศิลปกรรม หรือได้ความงามที่สมบูรณ์ไปในตัว ซึ่งอาจจะเหนือกว่าศาสตร์อื่นๆ ดังคำกล่าวที่ว่า สุดท้ายก็กลับมาตายที่ความงาม หรือย้อนไปกลับไปที่ความคิดที่เหนือกว่าเหตุผลนั่นเอง การทำงานศิลปะหรือการออกแบบเยี่ยงงานวิจัยก็เป็นเพียงแค่หาศาสตร์และสาระที่อ้างอิงได้ มีหลักการคิด การบันทึกที่เป็นจริงได้ไว้เป็นหลักฐาน ให้เป็นที่ยอมรับ ตามมาตรฐานที่สังคมกำหนด ก็เท่ากับว่าเราได้ทำงานวิจัยและได้ในสิ่งที่เราต้องการทราบและพิสูจน์ผลแห่งการคิดที่เป็นจริงได้แล้ว

ดังนั้นการทำวิจัยทางศิลปกรรมจึงต้องมีการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง มีการวิเคราะห์ สามารถแสดงวิธีการคิดที่เรารู้และบันทึกรายละเอียดประกอบผลการคิดและการกระทำออกมา ให้เป็นที่ประจักษ์และหลักฐานไว้นั่นเอง

4 ความคิดเห็น:

Dr.Art Chula กล่าวว่า...

ฝากให้เพื่อนๆลองอ่านและพิจารณาดูนะครับ น่าสนใจดี...เหน่งครับ

Dr.Art Chula กล่าวว่า...

น่าสนใจครับ เป็นประโยชน์

Dr. Bussakorn Sumrongthong กล่าวว่า...

Dear A. neng,
Thank you for the article. However, the reference will be appreciated if you have it.
Keep sending good stuff! It is useful for everyone.
Cheers!

Sama กล่าวว่า...

สวัสดีครับ

บทความช่วยให้ผมเข้าใจพื้นฐานของการวิจัยทางศิลปะมากขึ้น หากอาจารย์จะช่วยลง reference ให้บ้างก็จะได้ศึกษาต่อเพิ่มเติมครับ

ขอบคุณครับ
ษมา อยู่สุข
Cambridge School of Arts