วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

เกียวโต (Kyoto)

เกียวโต (Kyoto)
เกียวโต นครแห่งนี้เป็นเมืองหลวงและที่ประทับของจักรพรรดิญี่ปุ่นมาเกือบ 1,100 ปี จำลองแบบจากนครฉางอันเป็นเมืองหลวงของจีนในสมัยราชวงศ์ถัง ปัจจุบันคือเมืองซีอาน โดยผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีถนนตัดกันเป็นรูปตารางและยังคงปรากฎหลักฐานมาจนถึงปัจจุบัน เกียวโตคือสัญญลักษณ์ความเป็นประเพณีนิยมของญี่ปุ่น เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่เก็บรักษาศิลปวัฒนธรรมของญี่ปุ่นไว้ เป็นเมืองใหญ่อันดับ 7 ของญี่ปุ่น มีจำนวนประชากร 1,400,000 คน

สถานีเกียวโต (Kyoto Station)
ซึ่งใช้เวลาไม่ถึงสามชั่วโมง เมื่อเดินออกมาจากสถานีรถไฟ ก็จะได้เห็นสภาพเมืองเกียวโตแออัดจอแจเหมือนเมืองทั่วไปในญี่ปุ่น ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวจะซ่อนตัวอยู่รายรอบด้านนอกกำแพงเมืองเก่าและตามถนนสายแคบ แม้ความเจริญทันสมัยจะรุกล้ำอย่างรวดเร็ว ทว่าก็ยังพบเห็นบ้านเรือนแบบเก่ามากมายตามตรอกแคบๆ

วัดซังจูซังเง็นโด (Sanjusangen-do)
ซึ่งใช้เป็นฉากถ่ายภาพกีฬายิงธนูบ่อยๆ วัดนี้จัดงานเทศกาลยิงธนูอันโด่งดังในวันที่ 15 มกราคมของทุกปี หลังคาวิหารมีความยาว 60 เมตร รองรับด้วยเสา 33 ต้น ผนังระหว่างเสามีซุ้มเว้าเข้าไป 33 ซุ้ม ภายในวิหารประดิษฐานพระโพธิสัตว์กวนอิมพันกร พร้อมเหล่าสาวกอีกหนึ่งพัน ซึ่งมีใบหน้าที่แตกต่างกันออกไป

คิโยมิซุเดระ (Kiyomizu-dera)
วัดซึ่งมีวิหารใหญ่ตั้งอยู่บนไหล่เขา รองรับด้วยเสาไม้มหึมา โดยระเบียงอันเป็นเวทีร่ายรำนั้นยื่นชะโงกเหนือหุบเหว วัดนี้มีอายุเก่าแก่กว่านครเกียวโต สร้างในปี ค.ศ. 788 ถวายแด่พระโพธิสัตว์กวนอิม 11 พักตร์ ด้านหลังวิหารใหญ่คือศาลเจ้าจิชู (Jishu) ซี่งเป็นศาลที่รู้จักกันดีที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นที่ประทับของเทพเจ้าแห่งความรักและความราบรื่นในชีวิตสมรส ที่ศาลเจ้านี้มีหินตาบอด (เมกูระอิชิ) ซึ่งห้ามเดินข้ามแต่ถ้าสาวๆจะเดินผ่านก้อนหินที่ขนาบสองข้างนั้นต้องหลับตา เชื่อกันว่าถ้าสามารถเดินท่องชื่อคนรักในใจไปได้ไกลถึง 20 เมตรแล้ว ความรักและชีวิตคู่ก็จะไปได้ตลอดรอดฝั่ง

ยาซากะจินจะ (Yasaka-jinja)
หรือมีอีกชื่อว่า งิอนซัง (Gion-san) เนื่องจากอยู่ใกล้ย่านงิอน มีซุ้มประตูสร้างด้วยหินแกรนิตสูง 9 เมตร จัดเป็นซุ้มประตูที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ทางด้านหลังของศาลมีทางออกสู่สวนสาธารณะมารุยามะโคเอ็น ความงามของสวนและความตระการตาของซากุระช่วงต้นเมษายนของที่นี่เป็นที่รู้จักกันดี

เฮอันจิงงุ (Heian-jingu)
ศาลเจ้าแห่งนี้สร้างขึ้นในปี 1895 เพื่อเป็นอนุสรณ์ครบรอบปีที่ 1100 ของเกียวโต โดยอุทิศถวานแด่สมเด็จพระจักรพรรดิองค์แรกและองค์สุดท้ายของนครแห่งนี้ แบบจำลองมาจากพระราชวังอิมพีเรียลองค์เดิม มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบสมัยเฮอัน ซึ่งเป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลจากจีนสูงที่สุด

วัดนันเซนจิ (Nanzenji)
ซึ่งเป็นวัดเซนที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเกียวโตด้วย ภายในอารามประกอบด้วยโบสถ์กลาง และโบสถ์เล็ก 12 แห่ง โดยเปิดให้เข้าชมเพียง 4 แห่ง ภายในวัดคุณก็จะสัมผัสได้ถึงปรัชญาแห่งเซน เนื่องจากความกลมกลืนของหมู่สนกับสถาปัตยกรรมวัด ศิลปะการจัดสวนอย่างลงตัว สิ่งเหล่านี้โน้มใจผู้มองให้คล้อยตาม และมรคาแห่งปราชญ์ก็มาสิ้นสุดที่วัดงิงคะกูจิ (Ginkakuji) หรือวัดศาลาเงิน ซึ่งสร้างในปี 1489 โดยโชกุนอาชิคางะเอระ ชั้นแรกของวิหารใช้เป็นที่อยู่อาศัย มีลักษณะแบบชินเด็น ส่วนชั้นที่สองเป็นห้องบูชา เป็นพุทธศิบป์แบบจีน ภายในสวนมีเนินหินสีขาว สร้างขึ้นเพื่อให้จันทร์สะท้อนแสงอาบไล้ทั่วบริเวณ ตรงปีกตะวันออกเฉียงเหนือของวิหารก็จะได้พบกับห้องชงชาโบราณซึ่งจัดว่าเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น

ปราสาทนิโจโจ (Nijo-jo)
เริ่มสร้างโดยเจ้าเมืองโอดะ โนบุนางะ ในปี 1569 โชกุนโทกุงาวะ อิเอยะสุ ผู้เป็นมิตรได้สานต่อจนสำเร็จ ปราสาทแห่งนี้มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กำแพงหินโอ่อ่า และห้องโถงสำหรับเจ้าเมืองเข้าเฝ้าโชกุนตกแต่งด้วยทองหรูหราสะท้อนถึงอำนาจโชกุนในสมัยเอโดะ ภายในปราสาทมีวังนิโนมารุ กระดานระเบียงเชื่อมหมู่อาคารของวังเป็นพื้น "นกไนติงเกล" เวลาเดินเหยียบพื้นจะมีเสียงดังเหมือนเสียงนกนี้
วัดคินคะคุจิ (Kinkakuji-วัดศาลาทอง)
ซึ่งรู้จักกันดีที่สุดในเกียวโต วิหารหุ้มด้วยทองคำมี 3 ชั้น โดยชั้นแรกมีลักษณะเป็นพระราชวัง ชั้นที่สองเป็นแบบบ้านซามูไร ส่วนชั้นที่สามเป็นแบบวัดเซน วัดแห่งนี้ล้อมรอบด้วยสระน้ำกว้างใหญ่ โอบล้อมด้วยแมกไม้ จึงมีทัศนียภาพที่งดงามยิ่ง

วัดเรียวอันจิ (Ryoan-ji)
ที่นี่มีสวนหินแบบเซนที่เรียกกันว่า คาเระซันซุย ซึ่งโด่งดังไปทั่วโลก สวนแห่งนี้คือภาพแอ็บสแตร็กซึ่งวาดด้วยโขดหินแทนน้ำหมึก หิน 15 ก้อน (มีก้อนหนึ่งซึ่งเราไม่มีวันมองเห็นได้ด้วยตา) บนผืนกรวดนั้นไม่มีใครหยั่งรู้ความหมายที่แท้จริงของมัน ได้แต่คาดเดากันไปต่างๆนานา หากมานั่งที่ระเบียงแล้วปล่อยใจให้ว่าง ความแห้งแล้งของภาพเบื้องหน้าจะนำพาความเวิ้งว้างไร้ที่สิ้นสุดมาสู่คุณ กล่าวกันว่าเป็นการยกระดับจิตเข้าสู่ภาวะแห่งเซน
ย่านเก่ากิอน (Gion)
เป็นย่านเริงรมย์หรือถิ่นเกอิชาชื่อกระฉ่อนของเกียวโต ในเกียวโตเรียกเกอิชาว่า "ไมโกะ หรือ เกโกะ" สมัยโบราณคำว่าเกอิชาในเมืองเกียวโตหมายถึงผู้ให้ความบันเทิงซึ่งเป็นชายแต่แต่งกายเป็นหญิง แต่ในเมืองโตเกียวและโอซาก้าคำนี้หมายถึงผู้ให้ความบันเทิงที่เป็นหญิง ไมโกะเป็นเด็กรุ่นสาวอายุราว 16 ปี ตรงเอวรัดผ้าแถบยาวเรียก โอบิ (obi) อันเป็นลักษณะเฉพาะ พออายุได้ 21 ปีก็ขยับฐานะไปเป็นเกโกะ แต่งชุดกิโมโนประดับประดาเต็มที่
ที่มา : http://www.nicevisiontravel.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=472014&Ntype=777

ไม่มีความคิดเห็น: