วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ความรู้เบื้องต้นในการแสดงนาฏศิลปืไทย

นาฏศิลป์ไทยมีรูปแบบการแสดงเป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะของการแสดงแต่ละประเภท การใช้สุนทรียศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องจำเป็นต้องได้ศึกษาหาความรู้เบื้องต้น เรื่องสุนทรียศาสตร์ดังกล่าวแล้วการศึกษาข้อมูลในเรื่องประเภทนาฏศิลป์ไทยก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ควรศึกษาพอสังเขป เช่นกัน

ประเภทของนาฏศิลป์ไทย

นาฏศิลป์ไทยเป็นศิลปะที่รวมเอาหลายสิ่งเข้าด้วยกัน แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. การแสดงโขน เป็นศิลปะของการรำ การเต้น แสดงเป็นเรื่องราว โดยมีศิลปะหลายรูปแบบผสมผสานกัน ลักษณะการแสดงโขนมีหลายชนิด ได้แก่ โขนกลางแปลง โขนนั่งราว โขนโรงใน โขนหน้าจอและโขนฉาก โขนแต่ละชนิดมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวสิ่งสำคัญที่ประกอบการแสดงโขน คือ บทที่ใช้ประกอบการแสดงจากเรื่องรามเกียรติ์ การแต่งกายมีหัวโขน สำหรับสวมใส่เวลาแสดงเพื่อบอกลักษณะสำคัญตัวละครมีการพากย์ เจรจา ขับร้องและดนตรีบรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ ยึดระเบียบแบบแผนในการแสดงอย่าง
เคร่งครัด
ภาพการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์
(จากหนังสือ นิทรรศการพิเศษ รามเกียรติ์ในศิลปะและวัฒนธรรมไทย : ปก)

2. การแสดงละคร ละครเป็นการแสดงเป็นเรื่องราว แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ คือ ละครแบบโบราณ จำแนกเป็นละครแบบดั้งเดิม ได้แก่ ละครชาตรี ละครนอก ละครใน ละครรำแบบปรับปรุง ได้แก่ ละครดึกดำบรรพ์ ละครพันทาง ละครเสภา และอีกประเภทหนึ่ง คือ ละครที่มีพัฒนาการขึ้นใหม่ ได้แก่ ละครร้อง ละครสังคีต ละครพูด ละครหลวงวิจิตรวาทการ ละครเพลง ซึ่งละครแต่ละชนิดจะมีรูปแบบเฉพาะตัว และสืบทอดรูปแบบการแสดงมาจนถึงปัจจุบัน

ภาพการแสดงละครเสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนแผนแสนสะท้าน
(จากหนังสือสูจิบัตรละคร เรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนแผนแสนสะท้าน หน้า 22)



3. การแสดงรำและระบำ รำและระบำเป็นการแสดงชุดเบ็ดเตล็ดมีหลายรูปแบบ ได้แก่ การรำหน้าพาทย์ การรำบท การรำเดี่ยว การรำหมู่ ระบำมาตรฐาน ระบำที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ รำ หรือระบำ ส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องความสวยงามความพร้อมเพรียง ถ้าเป็นการแสดงหมู่มากตลอดทั้งใช้ระยะเวลาในการแสดง สั้น ๆ ชมแล้วไม่เกิดความเบื่อหน่าย

ภาพการแสดง ระบำ พัด รัตนโกสินทร์


4. การละเล่นพื้นเมือง การละเล่นพื้นเมืองเป็นการละเล่นในท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานาน แบ่งออกเป็น ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน แต่ละภาคจะมีลักษณะเฉพาะในการแสดง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ได้แก่ สภาพทางภูมิศาสตร์ประเพณี ศาสนา ความเชื่อและค่านิยมทำให้เกิดรูปแบบการละเล่นพื้นเมืองขึ้นหลายรูปแบบ ได้แก่ รูปแบบการแสดงที่เป็นเรื่องของการร้องเพลง เช่น เพลงเกี่ยวข้าว เพลงบอก เพลงซอ หรือรูปแบบเป็นการแสดง เช่น ฟ้อนเทียน เซิ้งกระหยัง ระบำตารีกีปัส ซึ่งแต่ละรูปแบบนี้จะมีทั้งแบบอนุรักษ์ปรับปรุงและพัฒนา เพื่อให้ดำรงอยู่สืบไป

ภาพการละเล่นพื้นเมือง ชุด เพลงอีแซว


สุนทรียศาสตร์ในการแสดงนาฏศิลป์ไทย
การแสดงนาฏศิลป์ไทยในแต่ละประเภทนั้น หากมองถึงเรื่องสุนทรียะหรือความงามแล้วจะมีอยู่ในการแสดงนั้น ๆ อย่างเด่นชัด ผู้ที่จะมองเห็นได้ คงจะเป็นผู้ที่ยอมรับในความเป็นไทย มีจิตใจรักในศิลปะและรู้ซึ้งถึงคุณค่าของศิลปะอย่างลึกซึ่ง นักวิชาการบางท่านได้กล่าวว่านาฏศิลป์ไทยเกิดขึ้นในแผ่นดินสยามนี้เอง มิได้นำแบบอย่างมาจากชาติใด รูปแบบการแสดงก็เป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างกว่าชาติอื่นเป็นศิลปะที่เด่นชัดมีความอ่อนช้อย สวยงาม ทั้งลีลา ท่ารำ เครื่องแต่งกาย รูปแบบการแสดง นับได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติที่คนไทยควรชื่นชม ภาคภูมิใจในความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ

ความงามในการแสดงนาฏศิลป์ไทย
เรื่องของความงามในด้านนี้เป็นอีกทัศนะหนึ่งของผู้เขียนที่เห็นว่าความงามในการแสดงนาฏศิลป์ไทยจะเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้
1. ความงามจากรูปร่างหน้าตา ในการศึกษานาฏศิลป์บางประเภท ผู้ที่จะเข้ามาศึกษาต้องได้รับการคัดเลือก รูปร่าง หน้าตา ก่อนเรียนโดยตรง เพื่อผลในการนำออกแสดงต่อไป ซึ่งจะทำให้การแสดงนั้น ๆ ดูสวยงามเหมาะสมในด้านการแสดง
การคัดเลือกผู้ฝึกตัวแสดงในนาฏศิลป์ไทยจะแบ่งออกเป็น 4 พวก คือ
1.1 ตัวพระ เลือกจากผู้มีใบหน้ารูปไข่ จมูกโด่ง ตากลมโต คอระหง มืออ่อน รูปร่างสูงโปร่ง

ภาพการคัดเลือกผู้เรียนตัวพระ
(จากหนังสือ วิชา นาฏศิลป์ หน้า 61 และ จากภาพโปสเตอร์ )


1.2 ตัวนาง เลือกจากผู้มีใบหน้ารูปไข่หรือใบหน้ากลมลักษณะอื่น ๆ บนใบหน้าดูสมส่วน มืออ่อน แขนอ่อน รูปร่างไม่สูงใหญ่นัก ท่าทางดูแช่มช้อยนุ่มนวล

ภาพการคัดเลือกผู้เรียนตัวนาง
(จากหนังสือ วิชา นาฏศิลป์ หน้า 61 และ จากภาพโปสเตอร์ )


1.3 ตัวยักษ์ เลือกจากผู้ที่มีคอระหง ใบหน้าไม่จำเป็นต้องดูงามรูปร่างโปร่ง สูงใหญ่ ช่วงลำตัวแขนขา
ได้สัดส่วน

ภาพการคัดเลือกผู้เรียนตัวยักษ์
(จากหนังสือ วิชา นาฏศิลป์ หน้า 63 และ จากภาพโปสเตอร์ )



1.4 ตัวลิง เลือกจากผู้ที่มีคอสั้น รูปร่างล่ำสันทะมัดทะแมง ไม่สูงนัก มีลักษณะว่องไว แคล่วคล่อง

ภาพการคัดเลือกผู้เรียนตัวลิง
(จากหนังสือ วิชา นาฏศิลป์ หน้า 62 และ จากภาพโปสเตอร์ )


เมื่อออกสู่การแสดง ย่อมทำให้ผู้ชมรู้สึกชื่นชม ในความงาม เกิดเป็นสุนทรียภาพของตัวละคร โดยเฉพาะการแสดงจำพวก โขนละคร ระบำรำฟ้อน เป็นต้น

2. ความงามของเครื่องแต่งกาย ในการแต่งกายของนาฏศิลป์ไทยจะมีรูปแบบเฉพาะตัว มีความแตกต่างกับเครื่องแต่งกายของนาฏศิลป์ชาติอื่น ๆ การแต่งกายจะดูสอดคล้องกับการแสดงเรื่องราวในการแสดง รวมทั้งมีการประดิษฐ์ สร้างสรรค์เครื่องประดับ ทั้งเลียนแบบของโบราณและแบบสมัยปัจจุบัน ตามจินตนาการของผู้สร้าง ดูสวยสดงดงาม อลังการกว่าการแต่งกายของชาติใด
ความงามของการแต่งกายนาฏศิลป์ไทย เมื่อจำแนกออกเป็นอย่าง ๆ จะปรากฏความงามตามรูปแบบการแสดงดังนี้
2.1 ความงามในการแต่งกายโขน จะมีเอกลักษณ์ในการแต่งกายตามภาษานาฏศิลป์ที่เรียกว่า “แต่งกายยืนเครื่อง” หรือ “ทรงเครื่อง” เป็นการแต่งกายที่วิจิตรบรรจง ทั้งลวดลาย ที่ตกแต่งบนเครื่องแต่งกายวิธีการสวมใส่ ซึ่งล้วนแต่เป็นงานที่ต้องจัดทำด้วยฝีมือและผู้มีความเชี่ยวชาญจึงจะสามารถทำได้ สีเครื่องแต่งกายยังบ่งบอกถึงสัญลักษณ์ของตัวละคร เช่น ถ้าเป็นมนุษย์สีเขียวที่สวมใส่จะหมายถึง ตัวพระราม ถ้าเป็นยักษ์สีเขียวที่สวมใส่จะหมายถึงทศกัณฐ์ นอกจากสีเครื่องแต่งกายแล้ว ลวดลายบนเครื่องแต่งกายตลอดจนหัวโขนที่สวมใส่ ยังบ่งบอกถึงตัวละคร และภูมิปัญญาของคนโบราณที่ได้คิดค้น อย่างเหมาะสมและสวยงาม

ภาพการแต่งกายผู้แสดงโขน ลิง ยักษ์ นาง พระ เรื่องรามเกียรติ์


2.2 ความงามในการแต่งกายละคร เนื่องจากละครของไทยจำแนกออกเป็นหลายชนิด รูปแบบการแต่งกาย จึงต้องดูให้เหมาะสมกับรูปแบบละครชนิดนั้น ๆ เช่น แต่งกายแบบยืนเครื่อง แต่งกายตามท้องเรื่อง ซึ่งการแต่งกายกับละครชนิดต่าง ๆ ก็ดูเหมาะสมสวยงาม เช่นกัน

ภาพการแต่งกายการแสดงละครเสภา เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนล่องทัพ


2.3 ความงามในการแต่งกายรำหรือระบำ การแสดงระบำของไทย มีจำนวนมากทั้งเป็นรูปแบบของเดิม และประดิษฐ์สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ การแต่งกายก็ล้วนแต่มีความงามและสื่อสานให้ผู้ชมได้เข้าใจการแสดงชุดนั้น ๆ เป็นอย่างดี

ภาพการแต่งกาย ระบำ ดอกบัว


2.4 ความงามในการแต่งกายการละเล่นพื้นเมือง เป็นการแต่งกายที่มีพื้นฐานจากชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในแต่ละภูมิภาค นำมาประดิษฐ์สร้างสรรค์ให้สวยงามเป็นที่ประทับใจของผู้ชม การแต่งกายประเภทนี้อาจมีทั้งรูปแบบโบราณ หรือประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ล้วนขึ้นอยู่กับการละเล่นพื้นเมืองชุดนั้น ๆ ถูกต้องตามลักษณะภูมิภาคของไทย


ภาพ การแต่งกาย การละเล่นพื้นเมือง ชุด เต้นสาก


3. ความงามจากลักษณะลีลาท่าทางการใช้ท่าร่ายรำ ภาษาท่าร่ายรำเป็นภาษาเฉพาะของนาฏศิลป์ไทยแทนภาษาพูดโดยไม่ต้องออกเสียง แต่อาศัยอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย แสดงออกมาเป็นท่าทางให้ผู้ชมได้เข้าใจแทนในความสวยงามในทางนาฏศิลป์ได้ เช่นใช้แทนคำพูด ได้แก่ รับ ปฏิเสธ เรียก ใช้เป็นกิริยาอาการต่าง ๆ ได้แก่ ยืน นั่ง นอน คลาน ไหว้ หรือใช้แสดงให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกภายใน ได้แก่ อาการดีใจ เสียใจ รัก โกรธ เป็นต้น
นอกจากนี้ลีลาท่าทางที่ปรากฎ ก็จะต้องเข้าใจถึงรูปแบบการแสดง เช่น การร่ายรำ ที่ไม่ได้แสดงเป็นเรื่องราวได้แก่ รำ ระบำ ความงาม ในการแสดง ก็จะปรากฏในรูปแบบของการแสดงคนเดียว การแสดงเป็นคู่ การแสดงเป็นหมู่ ซึ่งความงามจะต่างกันไปตามลีลาและจุดมุ่งหมายของการแสดงนั้น ๆ หรือ ความงามในการแสดง โขน ละคร ตัวละครต้องรำงาม ถูกต้องตามแบบแผน มีความกลมกลืนกับลีลาท่ารำที่ประสานกับคำร้องและดนตรีรวมทั้งการแสดงอารมณ์ของตัวละครทำได้ อย่างแนบเนียนดูสมจริง


ภาพลักษณะ ลีลาการใช้ท่าร่ายรำ
(จากหนังสือ THE PRELIMINARY COURSE OF TRAINING TN
THAI THEATRI CAL ART : ปก)


4. ความงามความไพเราะของการบรรเลงดนตรี ดนตรีเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งของการแสดงที่จะทำให้ผู้ชมเกิดสุนทรีย์การบรรเลงจึงต้องเหมาะสมกับการแสดงแต่ละชนิด บรรเลงถูกต้องตามหน้าพาทย์ที่บัญญัติไว้เหมาะสมกับอารมณ์ เพลง กลมกลืนกับการขับร้องและการรำ เช่น ถ้าบรรเลงประกอบกับการขับร้องที่ไม่มีรำ บางครั้งผู้ร้องมีลูกเล่นลีลาที่เปลี่ยนไปตามบทร้องเฉพาะตัว ผู้บรรเลงสามารถช้าหรือเร็วตามลีลาของผู้ขับร้องได้ แต่ถ้าเป็นการบรรเลงประกอบการรำ ต้องบรรเลงพอเหมาะพอดีตามทำนองจะช้าหรือเร็วไปตามลีลาเฉพาะตัวของผู้ขับร้องไม่ได้ เพราะผู้รำต้องรำทำบทให้เป็นไปตามอารมณ์อย่างแท้จริง ผู้ร้องก็ต้องร้องให้ประสานกลมกลืนกับดนตรี และการรำของตัวละคร

ภาพการบรรเลงดนตรีไทย


5. ความงามความไพเราะของการขับร้อง การแสดงนาฏศิลป์ไทยทุกประเภทจะมีการขับร้องเข้ามาเกี่ยวข้องสุนทรีย์ด้านการขับร้องจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการบรรจุเพลงอย่างถูกต้อง ผู้ขับร้องต้องขับร้องไพเราะ ความไพเราะอยู่ที่การใส่อารมณ์ให้ตรงกับบทร้อง ขับร้องถูกหลัก อักขระการแบ่งวรรคตอนในการร้องถูกต้อง เสียงต้องดีและชัดเจน ขับร้องให้สัมพันธ์กับการบรรเลงดนตรี ถ้าเป็นการขับร้องในการแสดงละครต้องให้ได้อารมณ์ ตามบทอย่างแท้จริง ผู้ฟังฟังแล้วเกิดสุนทรีย์ หมายถึง รับรู้ในความไพเราะเกิดการยอมรับและมีความรู้สึกคล้อยตาม
6. ความงาม ความไพเราะ ทางด้านบทประพันธ์ วรรณกรรม ในบทร้อยกรองต่าง ๆ ความไพเราะของบทกลอน ทำให้เกิดสุนทรีย์ คือ ไพเราะด้านเนื้อหา การใช้คำที่กลมกลืน ความหมายชัดเจน ตรงกับเป้าหมายของการแสดงแต่ละชนิด เหมาะสมต่อการนำไปขับร้อง ถ้าเป็นการตัดต่อบทละครต้องทำให้กลมกลืนเหมาะสมบทที่ดีต้องสามารถทำให้ผู้รำทำบทได้อย่างสวยงาม มองดูไม่รวบรัดลุกลี้ลุกลนจนเกินไป ไม่มีการตีบทซ้ำซาก สุนทรีย์ทางวรรณกรรม บทละครเกิดขึ้นได้จึงต้องประสานกลมกลืนกับการรำทำบทของตัวละคร ขณะเดียวกันต้องสามารถกลมกลืนกับการขับร้อง ทำให้ผู้ขับร้องได้ดีไม่ติดขัด การใช้คำเหมาะสมกับการส่งสำเนียงในการขับร้องผู้ฟังฟังแล้วเกิดความรู้สึกคล้อยตาม
7. ความงามจากการจัดฉากที่สวยงามเหมาะสม การจัดฉากเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการแสดงนาฏศิลป์ไทยบางประเภทเช่น การแสดงโขนฉาก การแสดงละครประเภทต่างๆ ซึ่งจะทำให้ดูสมจริงสมจัง ในขณะที่แสดง การจัดฉากของไทยจะมีความประณีต วิจิตรบรรจง สร้างบรรยากาศ ให้ผู้ชมเกิดจินตนาการคล้อยตามไปกับผู้แสดงในเหตุการณ์นั้น ๆ


ภาพการจัดฉากการแสดงละครนอกเรื่อง พระอภัยมณี ตอนหึงนางละเวง
(จากหนังสือ สูจิบัตร เรื่อง พระอภัยมณีตอนหึงนางละเวง : ไม่ปรากฏหน้า)


8. ความงามของแสง สีในการใช้เทคโนโลยี ในปัจจุบัน เทคโนโลยีทันสมัยเพิ่มมากขึ้น การใช้ระบบแสง สี จึงเป็นส่วนหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อรูปแบบการแสดงต่าง ๆ ความงามของการใช้แสงสี ได้อย่างเหมาะสม จะเพิ่มคุณค่าของการแสดงอย่างดียิ่ง สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้ชมที่จะคล้อยตามเกิดประสาทสัมผัสในการรับรู้ได้อย่างรวดเร็ว เกิดจินตนาการเห็นความสวยงามในเครื่องแต่งกาย การแต่งหน้า เห็นความสมจริงในการจัดการแสดง และเกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อการแสดงมากขึ้น


ภาพการใช้แสงสีในการแสดงโขนละคร


9. ความงามความพร้อมจากผู้ชม ผู้ชมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของการแสดง เนื่องจากหากขาดผู้ชม การแสดงต่าง ๆ ที่ได้จัดขึ้นมาก็จะไม่มีความหมาย เพราะไม่มีผู้ที่ชื่นชมการแสดงเหล่านั้น การเป็นผู้ชมที่ดีย่อมส่งผลสะท้อน กลับให้ศิลปินเกิดความภาคภูมิใจ และสามารถพัฒนาผลงานของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง สุนทรียจากผู้ชมก็คือ มีความพร้อม มีพื้นฐานในการชมการแสดง มี ความชอบมีใจรัก มีสมาธิ ในการชมการแสดง เข้าใจบทบาทของผู้แสดง ตลอดทั้งมีอารมณ์ร่วมกับผู้แสดง ก็จะทำให้ชมการแสดงได้อย่างซาบซึ้ง เพราะผู้ชมจะเกิดสุนทรีย์ในการเข้าชมเป็นอย่างดี


สรุป
จากองค์ประกอบสิ่งที่จะทำให้เกิดความงามในนาฏศิลป์ไทย อาจเป็นแง่มุมหนึ่ง ในความคิดเห็นของผู้เขียนเองที่มีประสบการณ์ด้านการเรียนการสอนนี้มาเป็นเวลาช้านานและได้ศึกษาค้นคว้า เรื่อง สุนทรียศาสตร์ จึงมีแนวคิดที่ว่า การแสดงนาฏศิลป์ไทยสอดคล้องกับสุนทรียศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาที่ว่าด้วยความสวย ความงาม และความไพเราะ สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส เกิดความรู้สึกปิติยินดี เบิกบานใจ พอใจ และชื่นชมในสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาปะทะอาจจะเป็นในธรรมชาติ หรือที่มนุษย์ผลิตคิดค้นขึ้นโดยมีจุดประสงค์ให้มีความงาม ล้วนเกี่ยวข้องกับการรับรู้ของมนุษย์ การได้ศึกษาทฤษฎีต่าง ๆ ของสุนทรียศาสตร์นับว่ามีประโยชน์ทำให้เห็นแนวคิดของนักปราชญ์เหล่านั้นในแง่มุมการมองที่ต่างกันในเรื่องของความงามจนเป็นแนวทางให้ผู้เขียนมีมุมมองในความงามในการแสดงนาฏศิลป์ไทยที่กว้างไกลมากขึ้น อีกทัศนะหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความงามเป็นเรื่องของความรู้สึกและอารมณ์ ของแต่ละบุคคล ความงามคืออะไรและอยู่ ณ ที่แห่งใด จึงยากที่จะหาคำตอบที่ชัดเจนได้ ส่วนใหญ่จะสรุปตามแนวความคิดหรือความเชื่อของตนที่สอดคล้องกับทฤษฎีต่าง ๆ ความงามที่แท้จริงเป็นอย่างไรยังไม่สามารถสรุปได้ในเชิงการศึกษา แต่ได้มีนักปราชญ์โบราณได้เน้นเกี่ยวกับการหาเกณฑ์ทางความงาม ว่าเมื่อศาสตร์ทุกแขนงมนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้น ฉะนั้นมนุษยนั่นแหละคือมาตรวัดทุกสิ่ง ดังคำภาษาอังกฤษ ที่ว่า “Mam is The Measure of All Things”

ไม่มีความคิดเห็น: