ตอนที่ผมเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ครั้งแรก ผมไม่เคยคิดเลยแม้แต่นิดเดียว ว่าโลกมนุษย์จะกลายพันธุ์จากอะตอม (อนุภาคเล็กที่สุดของสสาร ซึ่งแบ่งแยกย่อยออกไปอีกไม่ได้) มาเป็นบิต(BIT : Binary Digit ตัวเลขฐานสอง ที่ประกอบด้วย 1 และ 0 ซึ่งเป็นหน่วยวัดความสามารถในการจำของคอมพิวเตอร์) ในเวลาอันสั้นและแพร่หลายได้มากขนาดนี้ จำได้ว่าตอนนั้นคอมพิวเตอร์อยู่ห่างไกลจากชีวิตมากเหลือเกิน การมีคอมพิวเตอร์สักเครื่องเป็นเรื่องใหญ่ ราคาแพง ใช้งานยาก ต้องมีความรู้และความพยายามสูง การใช้คอมพิวเตอร์ในสมัยนั้นเป็นเพียงอุปกรณ์ที่ทำให้งานเรียบร้อยสวยงาม แต่ไม่ช่วยประหยัดเวลาสักเท่าใด บางครั้งทำให้เสียเวลามากขึ้นกว่าปกติเสียด้วยซ้ำ เพราะว่ามีโปรแกรมให้เลือกใช้น้อย อุปกรณ์เสริม อุปกรณ์ต่อพ่วงไม่ค่อยมี ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม อินเทอร์เน็ต อี-เมล ไม่ได้ทั้งนั้น คู่มือการใช้งานก็ไม่ค่อยมีใครเขียนให้อ่านเสียด้วย
เนื้อหาในบทความนี้จะเป็นเรื่องของดิจิตอล (บิต) ซึ่งเป็นสื่อสมัยใหม่ที่ต้องอาศัยเครื่องส่งกับเครื่องรับ ไม่อย่างนั้นก็ไม่เห็นอะไร ทุกอย่างล้วนเป็นอากาศธาตุ ลองหลับตาแล้วคิดดูว่าในหนึ่งวัน เราต้องสื่อสารกับใคร เราเห็นสื่ออะไร เห็นที่ไหน เมื่อไหร่ กี่ครั้ง ถ้านับจำนวนสื่อต่อพื้นที่ อะตอมชนะแน่นอน แต่ถ้านับจำนวนสื่อต่อวินาทีละก็ บิตแซงไปไม่เห็นฝุ่น
เอาอย่างนี้ก็ได้ ให้คิดถึงการที่เราจะได้อ่านหนังสือพิมพ์สักฉบับในขณะที่อยู่ที่เชียงใหม่ เริ่มต้นที่นักข่าวในกรุงเทพออกไปหาข่าวตอนบ่ายสาม ถ่ายรูป ส่งฟิล์มไปล้าง กลับมาพิมพ์ข่าว จัดหน้าเตรียมพิมพ์ แนบฟิล์มให้ช่างเพลทแยกสี เสร็จแล้วส่งเพลทไปโรงพิมพ์ พิมพ์เสร็จเข้าเล่ม แพ็ครวมเป็นมัดๆ ขนขึ้นรถตอนตีหนึ่ง รถวิ่งเร็วเข็มไมล์สุดหน้าปัด หกโมงเช้าถึงมือยี่ปั๊วที่เชียงใหม่ หกโมงครึ่งถึงร้านหน้าปากซอย เจ็ดโมงเช้าเราได้นั่งอ่านหนังสือพิมพ์อยู่บนโถส้วม สิบสี่ชั่วโมงคือเวลาที่ใช้ไปในโลกแบบอะตอม
ลองดูอีกภาคหนึ่งที่แตกต่าง เริ่มต้นที่นักข่าวในกรุงเทพออกไปหาข่าวตอนบ่ายสาม ถ่ายรูปด้วยกล้องดิจิตอล ส่งไฟล์ภาพและเนื้อหาข่าวไปสำนักข่าวด้วยโทรศัพท์มือถือ ที่นั่นมีคนจัดหน้าโฮมเพจ ส่งไฟล์ทั้งหมดไปอัพโหลดที่เว็บมาสเตอร์ สี่โมงเย็นเราได้นั่งอ่านข่าวเดียวกันนี้จากคอมพิวเตอร์หรือไม่ก็มือถืออยู่บนโถส้วมที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ หนึ่งชั่วโมงคือเวลาที่ใช้ไปในโลกแบบบิต (ดิจิตอล)
แน่นอน เมื่อมีคนชอบก็ต้องมีคนไม่ชอบ โดยเฉพาะ เดวิด คาร์สัน (David Carson) เขียนไว้ใน “อวสานสิ่งพิมพ์” (The end of print) ปี 1996 เขาบอกว่าสื่อดิจิตอลไม่มีวันแทนที่สิ่งพิมพ์ได้หรอก ตราบใดที่คนเรายังต้องสัมผัส จับต้อง ได้กลิ่นกระดาษที่ใช้พิมพ์ ใช่แล้ว กระดาษมีชีวิต เราแสดงความเป็นเจ้าของได้ แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ มันกระด้างเกินไป ไร้วิญญาณ ปิดสวิทช์แล้วทุกอย่างก็จบกัน ใช่เลย บ่อยครั้งที่ผมยอมจ่ายสตางค์ซื้อหนังสือพิมพ์ไปนั่งอ่านในส้วม มากกว่าการอ่านฟรีทางอินเทอร์เน็ต แต่ความเชื่อมโยงระหว่างคนกับเอกสารกระดาษกำลังจะเปลี่ยนไปเป็นข้อมูลดิจิตอล เช่น การซื้อสินค้าออนไลน์ การกรอกใบสมัครงาน ใบสมัครเข้าเรียน ใบลงทะเบียนเรียนทางอินเทอร์เน็ต ข้อมูลส่วนตัวที่ถูกบันทึกลงในไมโครชิพของบัตรประชาชน บัตรเครดิต ใบขับขี่ ประวัติสุขภาพและการรักษาพยาบาล หรือแม้แต่การลงคะแนนเลือกตั้ง ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยระบบอิเล็กทรอนิกส์สารสนเทศไร้พรมแดน (Cyberspace)
เว็บไซต์ Amazon.com เป็นตัวอย่างที่สุดยอดของการทำธุรกิจบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ผมมีประสบการณ์ที่น่าประทับใจกับเว็บไซต์นี้มาพอสมควร ส่วนใหญ่จะเป็นการสั่งซื้อแผ่น CD และ DVD ที่ไม่สามารถหาซื้อได้ในประเทศ เริ่มจากค้นหาสิ่งที่ต้องการ ซึ่งมีนับหมื่นรายการบนหน้าเว็บไซต์ ลงทะเบียนสมาชิก เลือกวิธีจ่ายเงิน กดปุ่มยืนยันการสั่งซื้อ ห้าวันผ่านไป CD เพลงที่ต้องการก็มาวางอยู่บนโต๊ะทำงานเหมือนเนรมิต ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงต้องบินไปเองหรือไม่ก็ฝากเพื่อนซื้อ ซึ่งคุณก็อาจจะไม่สามารถกำหนดเวลาได้แน่นอนหรืออาจต้องเสียเงินมากกว่าที่คิด แต่ถึงยังไง นี่ก็เป็นภาคดิจิตอลแค่ครึ่งเดียว เพราะว่าเรายังต้องใช้อะตอม (แผ่น CD) อยู่ดี ที่จริงแล้วระบบที่ขายบิตโดยตรงก็มีมาระยะหนึ่งแล้วในประเทศไทยนี่แหละ มีค่ายเพลงหลายบริษัทที่ให้บริการโหลดเพลง (บิต) ผ่านเว็บไซต์ โดยเสียค่าสมาชิกไม่แพง ไม่ต้องใช้แผ่น CD ไม่ต้องออกแบบปก ลดต้นทุนและกำลังคนผลิตลงไปเยอะแยะ
ใช่แล้ว ค่ายเพลงกำลังขายบิตกันอย่างเมามัน ไม่มีหีบห่อ ไม่ใช้พนักงานส่งของ ไม่มีแคชเชีย แต่ทำเงินมหาสาร เขาทำได้ยังไง เพลงทั้งเพลง หนังทั้งเรื่อง ต้องใช้พื้นที่ความจำตั้งเยอะ มันจะวิ่งผ่านอากาศมาถึงคอมพิวเตอร์ของเราในไม่กี่วินาทีได้ยังไง นิโคลัส เนโกรพอนเต (Nicholas Negroponte) อธิบายไว้ใน “ชีวิตยุคดิจิตอล” (Being Digital) ปี 1996 ว่าอย่างนี้ครับ เสียงหรือภาพถูกลดปริมาณความจุลงแบบเดียวกับการย่อตัวเลขให้เป็นฐานสอง (1และ0) เป็นการสุ่มตัวอย่างสัญญาณเลือกเก็บและทิ้งตัวที่ซ้ำกันบางตัวเท่านั้น เป็นการบีบอัดความจุให้เล็กลง แล้วเอาไปเล่นกลับให้เหมือนเดิมได้อย่างสมบูรณ์แบบ เป็นการตัดต่อสัญญาณเสียงแบบสุ่มดึงบ้าง ข้ามบ้างเป็นช่วงๆแต่มีความถี่มากๆ จนเราไม่สามารถรับรู้ถึงเสียงที่ขาดตกหายไป
กรณีของภาพก็เช่นกัน ลองนึกถึงภาพที่มีความเข้ม ความจางต่างระดับกัน สมมุติว่าสีดำเท่ากับ 0 สีขาวเท่ากับ 256 ดังนั้น สีเทาทั้งหมด จึงมีค่าอยู่ระหว่างขาวกับดำ ในโลกของบิตขั้นพื้นฐาน ที่มีบิตเรียงกันเป็นสายติดต่อกัน 8 บิต (1 ไบต์) มีความเป็นไปได้ที่จะมีการเรียงเลข 0 และ 1 ทั้งหมด 256 แบบ ด้วยการแบ่งระดับความเข้มที่ละเอียดถี่ยิบ ทำให้ได้ภาพที่เหมือนต้นฉบับอย่างสมบูรณ์แบบ เมื่อนำจำนวนบิตของสื่อดิจิตอลแต่ละแบบมาคำนวณกับความสามารถในการส่งบิตใน 1 วินาทีของช่องสัญญาณที่ใช้ จึงเป็นเรื่องง่ายสำหรับไฟล์เสียงพูดคุณภาพสูง ที่ 64,000 บิตต่อวินาที หรือไฟล์เสียงดนตรีความคมชัดสูง ที่ 1.2 ล้านบิตต่อวินาที และไฟล์วีดีโอ ที่ 45 ล้านบิตต่อวินาที
เรียวอิชิ คุนิโตโม (Ryuichi Kunitomo) กล่าวใน “ตัวเป็นคอมฯ หัวใจเป็นคน” (Seven eleven no Jyoho Shisutemu) ปี 2005 ว่าร้านเซเว่น อิเลเว่น ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศยุคที่ 5 ในการเก็บข้อมูล เช็คสต็อกสินค้า สั่งสินค้า ทำประชาสัมพันธ์ภายในร้าน ตั้งแต่ปี 2540 ที่เรียกว่าระบบ POS (Point of Sales) เป็นการใช้บิตในรูปของมัลติมีเดีย (ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ภาพสามมิติ กราฟิก ตัวอักษรและเสียง) ช่วยในการบริหารจัดการและการขาย สิ่งที่ต้องทำซ้ำๆกันทุกวัน ระบบในคอมพิวเตอร์จะวิเคราะห์ข้อมูลให้ทำงานได้เอง แล้วพิมพ์รายงานผลให้เลย ทำให้ได้งานมากโดยใช้คนน้อย ตัวโปรแกรมใช้ง่ายสำหรับพนักงานทุกคน
บทความเรื่อง “ปรากฏการณ์ดิจิตอล” นี้จะใช้หลักปรัชญาในการพูดถึงความจริง ความดีและความงามของระบบอิเล็กทรอนิกส์สารสนเทศไร้พรมแดน (Cyberspace) ที่ใช้กันในชีวิตประจำวันที่แทรกตัวเข้าไปในบริบททางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การแพทย์ การสื่อสารและอื่นๆ เป็นการมองเนื้อสารและตัวสื่อ ผ่านปรัชญากระบวนทรรศน์ที่ 5 ของมนุษย์ (หลังยุคใหม่ : Post Modern) คือ การเปลี่ยนถ่ายจากอะตอมมาเป็นบิตนั่นเอง ซึ่งศาสตราจารย์ กีรติ บุญเจือ ได้กล่าวไว้ใน “ปรัชญาหลังนวยุค แนวคิดเพื่อการศึกษาแผนใหม่ “ ปี 2545 ว่าวัฒนธรรมหลังนวยุค (หลังยุคใหม่ : Post Modern) เป็นวัฒนธรรมไร้พรมแดน ไม่มีเส้นขีดกั้นทั้งในแนวตั้ง (ยุคสมัย กาลเวลา) และในแนวนอน (ชาติ ภาษา วัฒนธรรมและภูมิภาค) เมื่อนำมาพูดถึงโลกไร้พรมแดน (Cyberspace) ก็น่าจะเทียบได้กับการไม่ยึดติดกับเวลาและสถานที่ (Time and Space) นั่นเอง
เมื่อมองด้านความจริงของโลกดิจิตอล มองแบบวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ในโลกดิจิตอลคนเราจะหลุดพ้นจากพันธนาการของสสาร เช่น เราไม่จำเป็นต้องพิมพ์งานจากคอมพิวเตอร์แล้วเอาไปส่งแฟกซ์ เพื่อให้เครื่องแฟกซ์ปลายทางพิมพ์งานออกมาเป็นกระดาษอีกครั้ง เพราะเราใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-Mail) แทน ในปี 1994 มีการพิมพ์เผยแพร่บทความเรื่อง “กรุงปารีส ในศตวรรษที่ 20” ซึ่ง จูลส์ เวิร์น เขียนไว้ในปี 1863 ว่า “การส่งสำเนาภาพทางไกล ทำให้สามารถส่งข้อเขียน ลายมือชื่อ ภาพวาดใดๆในระยะไกลๆ สามารถลงนามในสัญญาใดๆได้ทั้งที่อยู่ห่างกันสองหมื่นกิโลเมตร บ้านทุกหลังวางสายเชื่อมโยงถึงกันหมด”
ในความเป็นจริงมนุษย์จะสร้างสิ่งที่ใหม่กว่า ดีกว่าอยู่เสมอ เราจึงไม่จำเป็นต้องพัฒนาให้โทรทัศน์ให้มีความละเอียดหน้าจอมากไปกว่านี้ แต่ใส่สมองให้โทรทัศน์รู้ว่าผู้ชมต้องการดูรายการแบบไหน เพียงแค่บันทึกความต้องการลงไป แล้วอุปกรณ์รับสัญญาณในโทรทัศน์จะดักจับบิตของรายการที่ต้องการ ไม่จำเป็นต้องดูรายการตามตารางเวลา ดูซ้ำที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ เพราะเวลาและสถานที่ไม่ใช่ข้อบังคับอีกต่อไป (Time and Space) ซึ่งเป็นวิธีเดียวกันกับการดูหนัง ฟังเพลงจากอินเตอร์เน็ตหรือจากการเป็นสมาชิก VOD (Video on Demand)
การมีตัวตนในสังคมเริ่มน้อยลง มนุษย์กำลังมีห้วงเวลาและพื้นที่เฉพาะตัวมากขึ้น เป็นการมีตัวตนแบบเสมือน สามารถปรากฏกาย (บิต) ได้หลายๆที่พร้อมกัน เป็นการปฏิสัมพันธ์ผ่านอุปกรณ์รับ-ส่งเท่านั้น ในโลกไร้พรมแดน (Cyberspace) มันไร้ขอบเขตจริงๆ คือ ไม่มีขนาด เพราะขนาด (บิต) ของคุณทวีคูณได้ไม่มีสิ้นสุด เปรียบได้กับความไม่สิ้นสุดของจักรวาล คุณไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ ไม่มีที่อยู่จริงๆหรอก มีแต่ที่อยู่จำแลง (Virtual address) ซึ่งอยู่ในตู้เซิฟเวอร์ (Server) ในตึกที่ไหนซักแห่ง มันทำให้คุณรู้แหล่งที่อยู่ของจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-Mail) แต่คุณไม่รู้จริงๆหรอกว่าที่อยู่ที่เป็นกายภาพอยู่ที่ไหน นิโคลัส เนโกรพอนเต (Nicholas Negroponte) ใน “ชีวิตยุคดิจิตอล” (Being Digital) ปี 1996 บอกว่าปรากฏการณ์นี้คล้ายกับความหมายของเลขประจำตัวประชาชน
ความจริงแล้ว ผมอาจไปนั่งทำงานด้วยคอมพิวเตอร์อยู่บนยอดเขาที่ไหนซักแห่ง ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Work) โดยที่ผมไม่จำเป็นต้องขับรถพาอะตอม (ตัวผม) เข้าเมือง แต่ในโลกความจริง บิตจะไม่มีตัวตน ไม่มีความหมายใดๆเลย หากไม่มีอะตอมในการสร้างภาพประจักษ์ คุณจะไม่มีทางรับรู้ข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Mail) ได้เลย ถ้าคุณไม่มีอุปกรณ์ใดๆที่เป็นภาครับ ในปัจจุบันแพทย์สามารถวินิจฉัยโรค จากการดูฟิล์มเอ็กซเรย์และพูดคุยกับคนไข้ ที่อยู่ไกลออกไปหลายพันกิโลเมตร (Telemedicine) ได้ด้วยช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Work) แบบห้วงเวลาเดียวกัน (Real Time) ก็จริง แต่ผู้ป่วยและศัลยแพทย์ก็ยังคงต้องย้ายอะตอม (ร่างกาย) มาพบกันเพื่อทำการผ่าตัดอยู่ดี นี่เป็นการยืนยันว่า ประโยชน์ของบิตเกิดขึ้นภายใต้ความจริงของอะตอม
เมื่อมองด้านความดีของโลกดิจิตอลหรือผลกระทบทางสังคมศาสตร์ เป็นการวิพากษ์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ ผศ.ดร. จุมพล พูลภัทรชีวิน กล่าวถึง “พื้นฐานปรัชญา” โดยบรรยายให้หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาฯ (5 พฤศจิกายน 2551) ว่า “ทุกสิ่งสอดคล้อยเกี่ยวข้องกัน ไม่มีจุดเริ่มต้น จุดสิ้นสุด ไม่มีคำตอบสุดท้าย เพราะว่างจึงมี หยุดคิดจึงคิดได้” เมื่อนำมาจับประเด็นของโลกไร้พรมแดน (Cyberspace) จะเห็นถึงปรากฏการณ์ใหม่ๆมากมาย เกิดช่องทางการสื่อสารไม่จำกัดรูปแบบ เวลาและสถานที่ ทุกคนเสมอภาคกัน ทุกคนเป็นผู้สั่งการ สร้างเงื่อนไขได้เองโดยไม่ติดยึดกับอุปสรรคทางกายภาพ เราเริ่มใช้บิตทำงานแทนเรา ทั้งที่ไม่เคยสัมผัสตัวตนจริงๆของบิตเลย แต่เราก็ฝากความหวังไว้กับมัน เช่น การสั่งซื้อของและจ่ายเงิน ผ่านระบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) แม้แต่ตู้เย็นยังสามารถสั่งไข่ นมสด เนื้อ ผักและน้ำผลไม้จากโกดังใกล้บ้านให้คุณได้เลย
มีบริการบัตรอวยพรอิเล็กทรอนิกส์ (E-Card) ที่คุณสามารถเลือกภาพ แบบตัวอักษรและเสียงเพลง แล้วแสดงภาพประจักษ์ให้ดูก่อนส่งได้ใน 15 วินาที คุณสามารถเลือกวัน เวลา ที่จะส่งให้ถึงมือผู้รับได้ แม้จะส่งล่วงหน้าเป็นปีก็ทำได้ ระบบจะแจ้งให้คุณทราบเมื่อบัตรอวยพรถูกส่งไปแล้ว และที่สุดยอดกว่านั้น คือ ผู้รับเปิดไฟล์บัตรอวยพรนี้เมื่อไหร่ ระบบจะแจ้งคุณเดี๋ยวนั้น ทำให้เกิดความสุขกับการมีปฏิสัมพันธ์ข้ามข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ เหมือนในเนื้อเพลง “เล่าสู่กันฟัง” ของธงไชย แมคอินไตย์ ที่ร้องว่า “ฝนที่ตกอยู่ทางโน้น หนาวถึงคนทางนี้” ความดีของไซเบอร์สเปซอยู่ตรงนี้นี่เอง
ดังคำที่ว่า “เพราะว่างจึงมี หยุดคิดจึงคิดได้” ทำให้เกิดสิ่งที่ไม่อาจเป็นไปได้ หากยังคิดว่าโลกมีพรมแดนและยังคงใช้กระดาษในการส่งสาร เราก็จะไม่คิดสร้างอินเทอร์เน็ต ซึ่งเราก็คงจะพัฒนากล่องเก็บเอกสารแทนที่จะมองหาความจำเสมือนที่ไม่มีวันล้นห้อง การเกิดความคิดนอกกรอบ ก็เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดโลกไร้พรมแดน เพาระว่า เมื่อคนไม่ติดยึดกับสิ่งที่มองเห็นตรงหน้า จะทำให้คิดถึงสิ่งที่ตนเองไม่รู้จักอีกมากมาย
เมื่อมองด้านความงามของโลกดิจิตอล เป็นเรื่องยากมากที่จะบรรยายความงามของสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาและสัมผัสไม่ได้ ต้องใช้เครื่องรับหรือสังเกตจากสิ่งแวดล้อมข้างเคียง หรือเทียบเคียงจากสิ่งที่มีอยู่ ความงามของอะตอมก็คือ สสารที่รับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งหมดของมนุษย์ แต่ความมหัศจรรย์ของดิจิตอลคือ การไม่มีตัวตน สัมผัสไม่ได้ ทำซ้ำได้ไม่รู้จักจบและฆ่าไม่ตายทำลายไม่หมดของบิต เช่น ความจำเสมือนแบบถาวรที่อยู่ในกล้องถ่ายภาพดิจิตอล การลบไฟล์ภาพทิ้งไป ไม่ได้ล้างความจำออกไปอย่างสิ้นเชิง แต่เป็นการทำให้มองไม่เห็นหรือหาไฟล์นั้นๆไม่พบต่างหาก ให้เทียบกับความไม่สิ้นสุดของจักรวาล (Infinity) เราไม่เคยไปให้ถึงสุดขอบของจักรวาล ในโลกดิจิตอลก็เหมือนกัน มันคือความว่างเปล่า ไม่มีรูปร่าง ไม่มีขนาด ไม่มีที่อยู่ แต่เมื่อเกิดบิตขึ้นมาแม้แต่บิตเดียวจะเกิดความจำทันที มันเป็นความจำเสมือนที่เหมือนกว่าตัวจริงเสียอีก ลองนึกภาพถึงไวรัสคอมพิวเตอร์สิ แน่นอน ไม่มีใครเคยเห็นตัวมันเป็นๆ แต่เราสามารถสัมผัสความร้ายกาจของมัน จากผลกระทบที่มันได้ทำกับไฟล์งานของเรา และทำกับระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์ สิ่งที่มันทำ คือ คอมพิวเตอร์พัง ตัวเครื่องยังอยู่แต่ความสามารถที่จะคิด ที่จะจำถูกขัดขวาง ไม่เรียงลำดับก่อนหลัง ทำให้ภาพประจักษ์ล้มเหลว ถ้าเรามองเห็นไวรัสตอนถล่มคอมพิวเตอร์ เราคงจะเห็นบิตระเบิดกระจัดกระจาย แต่เมื่อเราทำการกู้ไฟล์ (จัดลำดับมันใหม่ให้ถูกต้อง) ทุกอย่างกับมาเหมือนเดิม เหมือนไม่เคยเกิดอะไรขึ้น นี่แหละบิตไม่มีวันตาย
หนังเรื่อง เดอะ เมทริกซ์ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากที่จะมองเห็นตัวตนของดิจิตอล ซึ่งเป็นโลกจำลองที่เหล่าเครื่องจักรสร้างขึ้นเพื่อควบคุมมนุษย์ ในหนังอ้างถึงแนวคิดทางศาสนาและปรัชญาจำนวนมาก รวมไปถึงวัฒนธรรมแฮกเกอร์ มีกลิ่นอายของโลกตะวันออกโดยเฉพาะญี่ปุ่น อย่างเช่น การไม่มีอยู่จริงของตัวตนและปัญหา มนุษย์จินตนาการไปเอง คิดไปเองว่าตัวเองทำไม่ได้ คิดว่าปัญหาอยู่ที่ตัวปัญหา ที่จริงแล้วปัญหาอยู่ใจเราเอง
ข้อสรุปของปรากฏการณ์ดิจิตอลเมื่อมองผ่านแนวคิดหลังยุคใหม่ (Post Modern) คือ เมื่อมนุษย์เอาชนะความจริงได้ พิสูจน์สิ่งที่กำลังจะเกิดได้โดยที่ยังไม่เกิด ซึ่งเป็นความคิดเดิมของยุคใหม่ (Modern) ที่ใช้หลักการโครงข่ายวิทยาศาสตร์และตรรกะ ชีวิตจึงดูกระด้าง ขาดจินตนาการ จึงเกิดการต่อต้านเพราะกลัวว่าความเป็นปัจเจกจะหายไป ความคิดนี้แพร่กระจายออกไปในทุกบริบท ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ เป็นความคิดใหม่ๆ ที่ไม่ต้องดำเนินตามแบบเดิม ไม่ให้มีข้อจำกัดทางกายภาพ ภูมิศาสตร์และกาลเวลา เป็นความแปรปรวนของระบบคุณค่าและค่านิยม เป็นความพร่าเลือนของสรรพสิ่ง ทำให้เส้นแบ่งระหว่างความจริงกับความลวง ภายนอกกับภายใน พื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะ รวมถึงพรมแดนที่เริ่มเลือนหายไป ยากที่จะชี้ชัดได้เหมือนในอดีต
รายการอ้างอิง
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์. ทางด่วนข้อมูล : ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาประเทศ :
รายงานผลการวิจัย. พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2540.
สมชาย กิติชัยกุลกิจ. ตัวเป็นคอมฯ หัวใจเป็นคน. พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ :
สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย - ญี่ปุ่น) , 2548.
สรศักดิ์ สุบงกช. โฉมใหม่ของสงครามยุคดิจิตอล. พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ :
อนิเมท กรุ๊ป , 2547.
ศิระ โอภาสพงษ์. วิวัฒน์! การประสบความสำเร็จในวัฒนธรรมดิจิตอลแห่งอนาคต :
รายงานผลการวิจัย. พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ : เอ อาร์ บิซิเนส เพรส, 2546.
เอกพงษ์ ตั้งศรีสงวน. ประชาชาติยุคดิจิตอล. พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ :
เอ็กซเปอร์เน็ท, 2549.
Negroponte, Nicholas. 1995. Being Digital. London : Hodder And Stoughton.
วันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น