วันศุกร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

คำแนะนำในการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น

การเข้าเมือง
- ชาวไทยที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นต้องขอวีซ่า โดยขอรายละเอียดที่สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นในประเทศไทย
- ห้ามนำของเหลวทุกประเภทติดตัวขึ้นเครื่องบินเกินกว่า 100 ม.ล.
- ห้ามนำยาเสพติดและอาวุธต่างๆ
- การนำสินค้าปลอมแปลงและสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เข้าประเทศญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย
- มีข้อจำกัดในการนำเข้าสัตว์ และพืช รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากสัตว์ อาทิ งู จระเข้ งาช้าง
- การนำเข้าพืช ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ต้องผ่านการตรวจของศุลกากร
- สำหรับสินค้าปลอดภาษี : นำสุราเข้าได้ไม่เกิน 3 ขวด (760 ม.ล. ต่อขวด) บุหรี่ไม่เกิน 400 แท่ง น้ำหอมไม่เกิน 2 ออนซ์

มารยาทและวัฒนธรรม
สิ่งที่ควรทำ
- สูบบุหรี่เฉพาะในที่ที่จัดไว้ให้
- มีระเบียบการแยกทิ้งขยะตามท้องถิ่น เช่น ขยะเผาได้ ขยะเผาไม่ได้ ขวด กระป๋อง และ pet bottle ต่างๆ
- การเข้าแถวถือเป็นมารยาทที่สำคัญ เช่น เข้าห้องน้ำ ร้านอาหาร ซื้อของ ขึ้นรถไฟ ลิฟท์
- การเข้าแถวรอสำหรับห้องสุขาสาธารณะ จะมีแถวรอรวมบริเวณปากทางเข้าตามลำดับคิว มิได้ยืนรอที่หน้าห้องสุขาแต่ละห้อง
- ชาวญี่ปุ่นนิยมการทักทายสวัสดี และการบอกกล่าวในการมาถึงหรือออกจากสถานที่รวมทั้งธรรมเนียมการกล่าวขอโทษและขอบคุณ จะอยู่ในวิถีปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังมีสำนวนคำกล่าวในแต่ละโอกาสเป็นการเฉพาะอีกด้วย
- พึงรักษาความสะอาด การเก็บกวาดสถานที่ การดูแลตกแต่งสวนต้นไม้ไม่ให้รบกวนผู้อื่น

สิ่งที่ไม่ควรทำ
- ไม่มีวัฒนธรรมการให้ทิป
- ห้ามใช้เสียงโทรศัพท์ วิทยุ อุปกรณ์อีเลคทรอนิคส์ ในรถไฟและบริการรถสาธารณะ
- ไม่ควรต่อราคาของ
- ไม่ควรยืนขวางบนบันไดเลื่อน / ควรยืนชิดซ้าย และหากจะเดินขึ้นให้ชิดขวา (ยกเว้นในเขตคันไซ ที่ยืน-ชิดขวา และหากจะเดิน-ให้ชิดซ้าย)
- การซ้อนจักรยาน เป็นสิ่งผิดกฎหมายจราจร

การแต่งกาย
- ญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสูง ควรตรวจสอบสภาพอากาศและแต่งกายให้เหมาะสม
- ถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้าน / ห้อง
- ใช้รองเท้าแตะสำหรับใส่ในบ้าน และเปลี่ยนเป็นรองเท้าแตะสำหรับห้องน้ำเมื่อเข้าห้องน้ำ
- ห้ามใส่รองเท้าเข้าห้อง Tatami (ห้องเสื่อญี่ปุ่น)
- ควรถอดหมวกและเสื้อโค้ตเมื่ออยู่ในอาคาร
- การเข้าสถานที่อาบน้ำรวมห้ามใส่ชุดว่ายน้ำ
- การใส่ชุดยูคาตะซึ่งจัดเตรียมไว้ที่โรงแรม ให้ใส่ซ้ายทับขวา

ศาสนา-วัฒนธรรม
- ประเทศญี่ปุ่นไม่มีศาสนาประจำชาติ แม้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ จะนับถือศาสนาพุทธ แต่ก็ไม่เข้มงวด และวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ มักจะเป็นไปตามประเพณีชินโต

การรับประทานอาหาร
- คนญี่ปุ่นนิยมใช้ตะเกียบรับประทานอาหาร
- ก่อนรับประทานอาหาร จะพูดว่า "Itadakimasu" และ หลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว จะพูดว่า "Gochisosama-deshita"
- นิยมดื่มซุป โดยยกถ้วยหรือชามขึ้นดื่ม ไม่ใช้ช้อน
- อาหารกลางวัน มักนิยมขายเป็น set menu หรือเป็นอาหารแบบกล่อง (bento) ราคาย่อมเยาตามมาตรฐานการครองชีพญี่ปุ่น ส่วนราคาอาหารมื้อเย็น มักจะสูงกว่าอาหารกลางวัน (โดยเฉลี่ยประมาณ 1-2 เท่า)
- ญี่ปุ่นมีบริการร้านอาหารแบบหยอดเหรียญ โดยกดเลือกรายการอาหารที่ต้องการและจ่ายเงินก่อนที่ตู้จ่ายเงินหน้าร้าน ซึ่งร้านอาหารประเภทนี้ ไม่ควรใช้เวลาในการรับประทานนาน และหลายร้านยังเป็นร้านที่ยืนรับประทานด้วย
- ในร้านอาหารทั่วไป บริกรมักจะนำใบรายการอาหารที่สั่ง (Denpyo) มาวางที่โต๊ะ เมื่อรับประทานเสร็จแล้วให้นำ Denpyo นี้ ไปจ่ายเงินที่ Cashier ใกล้ประตู (ยกเว้นร้านอาหารใหญ่ หรือร้านแบบตะวันตก จะจ่ายเงินที่โต๊ะรับประทานฯ)
- สามารถดื่มน้ำประปาได้
- คนญี่ปุ่นมีความเคร่งครัดเรื่องสุขอนามัยอาหารสูง และให้ความสำคัญกับฉลากข้อมูลโภชนาการ และการหมดอายุ

คมนาคม
- ระบบขนส่งมวลชนในเขตเมืองใหญ่สะดวก และปัจจุบันแผนที่และข้อมูลการเดินทางเป็นภาษาอังกฤษมีเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต แต่พนักงานที่เกี่ยวข้องหรือประชาชนโดยทั่วไปส่วนใหญ่ ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้
- ราคาแท็กซี่สูง ราคาเริ่มต้นในกรุงโตเกียวและตามเมืองใหญ่ ประมาณ 660 เยน
- ในรถไฟและบริการรถสาธารณะจะมีที่นั่งพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ คนตั้งครรภ์ และคนพิการ ไม่ควรนั่งในที่ดังกล่าว
- ชาวญี่ปุ่นไม่นิยมสละที่นั่งให้เด็กและผู้สูงอายุนั่ง หรือบางครั้งคนเหล่านั้นจะปฏิเสธเมื่อมีผู้สละที่นั่งให้ เนื่องจากความเกรงใจ ประกอบกับญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุซึ่งมีประชากรสูงอายุส่วนใหญ่แข็งแรงช่วยเหลือตนเองได้ และไม่อยากถูกมองว่าเป็นภาระของสังคม ขณะที่เด็กนั้น เชื่อว่าต้องฝึกฝนความเข้มแข็งและอดทนอยู่เสมอ

คำแนะนำอื่นๆ
- อาจไม่มีป้ายแนะนำเป็นภาษาอังกฤษเมื่อไปต่างจังหวัด
- อากาศแบ่งเป็น 4 ฤดู คือ ฤดูใบไม้ผลิ (มีนาคม-พฤษภาคม) ฤดูร้อน (มิถุนายน-สิงหาคม) ฤดูใบไม้ร่วง (กันยายน-พฤศจิกายน) และฤดูหนาว (ธันวาคม-กุมภาพันธ์) และมีฤดูฝนในช่วงสั้นๆ ประมาณเดือนมิถุนายน และพายุไต้ฝุ่นในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน
- เมื่อเกิดแผ่นดินไหว เปิดหน้าต่างและประตู ปิดแก๊ส หลบใต้โต๊ะ อย่ารีบหนีไปข้างนอก
- ในกรณีที่พำนักในญี่ปุ่นเป็นเวลานานพอสมควร ควรตรวจสอบจุดหลบภัยของชุมชนสำหรับการเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ และเตรียมอุปกรณ์ยังชีพฉุกเฉินในที่พำนักอาศัย
- ควรแจ้งชื่อ ที่อยู่ หมายเลขติดต่อ เพื่อการติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูตฯ / สถานกงสุลใหญ่
- สามารถติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหว และประกาศต่างๆ ของสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ที่ http://www.thaiembassy.jp/

ไม่มีความคิดเห็น: