วันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

โคโตะ

โคโตะเป็นเครื่องดีดชนิดหนึ่งที่มีสัณฐานยาว ทำจากไม้เพาโลเนีย หรือเป็นที่รู้จักกันในนามของ Empress Tree (kiri) ขุดภายในให้เว้าตามส่วนโค้งด้านนอก วางราบไปกับพื้น รูปร่างคล้ายจะเข้ มีความยาวประมาณ 6 ฟุต (180 ซ.ม.) กว้างประมาณ 14 นิ้ว (25 ซ.ม.) มองดูรูปร่างลักษณะคล้ายมังกร และส่วนประกอบอื่นๆ ของโคโตะก็มีชื่อเรียกเป็นอวัยวะส่วนต่างๆ ของมังกรด้วย ขึงสาย 13 เส้นพาดไปบนตัวสะพานที่มีชื่อว่า "จิ" ที่ขยับเข้า-ออกได้ดึงให้ตึงตามต้องการแล้วผูกขมวดไว้ตรงส่วนปลายตัวโคโตะ เส้นเหล่านี้เดิมทีใช้เส้นไหม แต่สมัยใหม่มักใช้ไนลอนวางไว้โดยปรับให้เข้ากับเพลงแต่ละเพลง ในขณะที่เล่นอยู่นั้นนักดนตรีสามารถขยับปรับตำแหน่งของสะพานนี้ได้ตามเสียงโน้ตที่ต้องการ
โคโตะ 13 สาย มีที่มาจาก "กักคุโซ" ดนตรีในราชสำนัก ในศตวรรษที่ 16 พระเคนจุน (1547-1636) นักบวชในพระบวรพุทธศาสนาซึ่งจำพรรษาอยู่ทางภาคเหนือของเกาะกิวชิว ได้ริเริ่มแต่งเพลงสำหรับโคโตะขึ้น เรียกรูปแบบเช่นนี้ว่า "ทสึคุฉิ" ตามชื่อภูมิภาค ต่อมายาทสึฮะฉิ เคงเงียว (1614-1685) นักดนตรีตาบอดแต่มีพรสวรรค์แห่งเมืองเกียวโตที่เป็นลูกศิษย์พระเคนจุน ก็ได้นำมาดัดแปลงเป็นเพลงนิทาน โดยการใส่เทคนิค การให้เสียงใหม่ ตลอดจนแต่งเพลงใหม่ขึ้นมาด้วย เพลงที่สร้างชื่อเสียงให้เขา คือ "โรคุดัง โนะ ชิบาเระ" (หกขั้นตอนของการเรียนรู้) เพลงนี้ยังคงเป็นที่นิยมแสดงในหมู่นักดนตรีโคโตะอยู่จวบจนทุกวันนี้ ระหว่าง ยุคเอโดะ (1603 - 1867) เครื่องดนตรีโคโตะได้พัฒนาจากดนตรีในราชสำนักไปสู่ดนตรีที่โดดเด่นของญี่ปุ่นด้วยคุณสมบัติของเสียงที่ไม่ซ้ำแบบใคร และกลายมาเป็นความประณีตทางสุนทรีของศิลปะและวัฒนธรรมญี่ปุ่น

ชาคุฮาจิ(ขลุ่ยไม้ไผ่)

ชาคุฮาจิ นับว่าเป็นเครื่องเป่าที่มีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่น เวลาเป่าต้องตั้งลำไม้ไผ่ขึ้นในแนวตั้ง ทั้งนี้จะต้องเลือกเอาตรงส่วนที่ชิดกับโคนต้นไผ่ที่สุด ตามธรรมดาปล้องไผ่จะกลวง ยกเว้นส่วนที่เป็นข้อซึ่งในการนำมาทำชาคุฮาจิ จะต้องคว้านส่วนในของแต่ละข้อออก เพื่อทำให้เกิดช่องว่างที่ทะลุถึงกันได้ตลอดทั้งลำ เจาะรู 4 รู ที่ด้านหน้าของตัวขลุ่ยสำหรับวางนิ้วทั้ง 4 และอีกรูหนึ่งทางด้านหลังสำหรับวางนิ้วหัวแม่มือ ช่วงบนสุดเป็นส่วนที่จะต้องประทับริมฝีปากลงเป่า ส่วนนี้จะตัดเฉียงลงมาทางด้านหน้า เวลาเป่าก็จะเกิดเสียงลมที่กระทบกับส่วนนี้
มีทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า ความเป็นมาของชาคุฮาจิเริ่มขึ้นจากอียิปต์โบราณ ผ่านเข้าไปทางอินเดีย และจีน ก่อนที่จะมาถึงญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 6 ความนิยมในขลุ่ยไม้ไผ่ชนิดนี้มีความเป็นไปในระยะเวลาสั้น ๆ บางจนถึงศตวรรษที่ 13 จึงได้มีการปลุกฟื้นความนิยมในเครื่องดนตรีชิ้นนี้ขึ้นโดยพระของพุทธ นิกายฟูเขะ ที่กำลังมองหาสิ่งที่จะมาทดแทนการสวดมนต์ด้วย "ซุยเซน" หรือ "การเป่าแบบเซน" กระทั่งถึงยุคเอโดะ (1603 - 1867) เครื่องดนตรีชนิดนี้ก็ได้พัฒนาขึ้นจนถึงจุดสุดยอด ในระยะเดียวกันนี้เองก็เกิดการปกครองแบบศักดินาขึ้น ชาคุฮาจิกลายเป็นเครื่องดนตรีคู่ใจนักรบซามูไรไร้สังกัดที่ถูกเรียกขานว่า "โรนิน" ที่ทำตัวเป็นนักจาริกแสวงบุญที่รู้จักกันในนามของ "โคมุโสะ" (นักบวชแห่งสุญตา) พวกโคมุโสะนี้จะครอบตระกร้าใบใหญ่ไว้บนศีรษะ ตระกร้านี้มีชื่อเรียกว่า"เทงไง" เป็นเครื่องหมายการปลีกตัวออกจากโลก ทั้งนี้เป็นผลมาจากถูกก๊กหัวรุนแรงรุกรานในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 โคมุโสะจึงรวมตัวกันปกป้องตนเอง สมาชิกนิกายฟุเคฉุจึงหาอุบายลวงโชกุนผู้ปกครองสูงสุดของประเทศญี่ปุ่นขณะนั้น ด้วยการปลอมแปลงเอกสารให้สิทธิพิเศษในการเล่นชาคุฮาจิเพื่อขออาหารเป็นทาน และเพื่อเป็นการตอบแทนพวกนี้ก็จะทำตัวเป็นสายลับสืบเรื่องของโรนินคนอื่น ๆ โคมุโสะเหล่านี้จะถูกห้ามพกดาบ แต่สามารถดัดแปลงชาคุฮาจิจากรากไผ่ที่ยาวขึ้น แข็งแรงขึ้น เพื่อใช้เป็นทั้งอาวุธป้องกันตัว และทั้งเป็นเครื่องดนตรีที่ช่วยให้เกิดความสงบแก่จิตวิญญาณ (http://www.jfbkk.or.th/event/koto_concert_th_01.html)

ไม่มีความคิดเห็น: