วันพุธที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2551

Book review A New History of Japanese Cinema



Book review A New History of Japanese Cinema




ผู้เขียน: Isolde Standish ผู้จัดพิมพ์: Continuum จำนวนหน้า: 414 ราคา: ฿1,380 โดย : นิตยสารผู้จัดการ - Thailand's Leading Business Magazine - ตุลาคม 2551 ปีที่ 26 ฉบับที่ 301




A New History of Japanese Cinema: A Century Of Narrative Film




ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คงจะได้ดูภาพยนตร์ญี่ปุ่นมาอย่างโชกโชนเลยทีเดียวกว่าจะลงมือเขียนหนังสือเล่มนี้ เพราะสามารถที่จะวิเคราะห์เรื่องราวที่เกินเลยไปกว่าความบันเทิงได้อย่างดีทีเดียว ภาพยนตร์ในฐานะศิลปะแขนงหนึ่งที่รวมเอาภาพเคลื่อนไหว ภาพนิ่ง เสียง และอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อการสื่อสารทางอารมณ์หรือสาระ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่ง มักจะถูกนำมาอธิบายถึงบทบาททางสังคมในแง่มุมต่างๆ วงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นนั้น สามารถผลิตอัจฉริยะขึ้นมาประดับวงการภาพยนตร์โลกได้อย่างภาคภูมิใจ และสร้างตำนานอันโดดเด่นให้เราได้ศึกษากันหลากหลาย โดยเฉพาะการนำเสนอสาระที่เป็นสากล โดยสามารถสร้างอัตลักษณ์เฉพาะขึ้นมาได้อย่างแนบเนียน ใครที่เคยชมภาพยนตร์อย่าง 7 เซียนซามูไรของกุโรซาวะ หรือ Tokyo Story ของโอซุ ย่อมต้องยอมรับว่า นี่คือผลงานที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลย เพราะเทียบเคียงกับงานชั้นเยี่ยมของฮอลลีวูด หรือยุโรปได้อย่างดี




ผู้เขียนหนังสือนี้พยายามมองลึกเข้าไปเกินกว่าความบันเทิง หรือธุรกิจภาพยนตร์ แต่เจาะตรงเข้าไปที่ปรัชญาหรือสาระเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงของสาระที่ภาพยนตร์ญี่ปุ่นได้นำเสนอออกมาในแต่ละช่วงเวลาอย่างเห็นภาพชัดเจน ในฐานะที่ภาพยนตร์คือสัญลักษณ์ของจิตสำนึกร่วมสมัยที่สามารถตีความได้หลากหลาย สิ่งที่เราได้พบจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ คือ การผสมผสานเทคโนโลยีภาพยนตร์เข้ากับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ-การเมืองของญี่ปุ่น นับแต่สมัยการเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยในยุคเมจิมาจนถึงปัจจุบัน จากความพยายามสร้างเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของรัฐอย่างมีศิลปะในฐานะอุดมการณ์แห่งความทันสมัยและทัดเทียมกับตะวันตกมาสู่การสนองตอบลัทธิชาตินิยมทหารเข้มข้นก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และท้ายสุด มาสู่เสรีภาพที่ทำให้เกิดยุคทอง ก่อนที่พลังจะหดหายไปเพราะถูกการแข่งขันรอบด้านกดดัน จนกระทั่งสาระของภาพยนตร์ในปัจจุบันจำกัดกรอบลงเหลือแค่การนำเสนอภาพชีวิตประจำวันที่เป็นเรื่องส่วนตัวถ่ายเดียว




จุดผกผันอย่างแท้จริงของวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นในยุคหลังสงครามที่มีการยกเลิกข้อจำกัดในการนำเสนอ ปล่อยให้ผู้สร้างและผู้กำกับมีอิสรภาพมากขึ้น รวมทั้งผลพวงของหายนะจากสงคราม ทำให้อัจฉริยะเกิดขึ้นอย่างมากมาย พร้อมกับสร้างตำนานประดับวงการภาพยนตร์โลก ด้วยเนื้อหานำเสนอที่มีลักษณะมนุษยนิยมที่พยายามปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยไม่ทิ้งความเป็นญี่ปุ่น แต่นั่นก็เป็นช่วงเวลาที่แสนสั้น เพราะเมื่อโทรทัศน์เข้ามาแข่งขัน ยุคทองของวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นก็จบสิ้นลง ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดสารพัด ด้วยสาระที่แคบลงอย่างน่าเสียดาย


Tokyo Story บทสุดท้ายของหนังสือมีความน่าสนใจอย่างมาก เพราะนำเสนอหรือตั้งโจทย์ให้เห็นชัดเจนว่า การปรับตัวเพื่ออยู่รอด ทำให้ภาพยนตร์ญี่ปุ่นมีแนวโน้มเน้นไปในเรื่องของความสัมพันธ์ทางเพศมากขึ้น หลบเข้าสู่โลกแฟนตาซีส่วนตัวที่มีอารมณ์ขบถอย่างไร้เป้าหมายต่อคุณค่าทางสังคมร่วมสมัยมากขึ้น กลายเป็นความรุนแรงที่แฝงเข้ามาซึ่งน่าวิตก สาระที่นำเสนอในหนังสือเล่มนี้ เหมาะสำหรับนำไปคิดต่อยอดเพิ่มเติมว่า การส่งเสริมภาพยนตร์ในฐานะสื่อบันเทิงหรือศิลปะเพื่อแสดงตนในรูปสัญลักษณ์ของจิตสำนึกร่วมสมัยนั้น เป็นสิ่งที่สมควรวางเฉยหรือให้การสนับสนุนอย่างจริงจังกันแน่ มิใช่แค่เพียงมองว่าเป็นธุรกิจที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำเท่านั้น ตัวอย่างเช่น หากภาพยนตร์ไทยร้อยละ 80 นำเสนอเนื้อหาหลักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผีหรือสยองขวัญเป็นหลัก แสดงว่า คนไทยกำลังแสดงตัวว่าเป็นคนไร้เหตุผลที่งมงายอยู่กับปรัมปราคติว่าด้วยสิ่งที่จับต้องไม่ได้ประเภท "ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่" ใช่หรือไม่




ใครที่สนใจเกี่ยวกับสาระของภาพยนตร์และศิลปะ อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วถือว่าคุ้มทีเดียว แม้ว่าราคาปกจะแพงไปสักนิด รายละเอียดในหนังสือ I n t r o d u c t i o n : Towards a Politics of Cinema Chapter




1. Cinema, Modernity and the Shochiku Tokyo Studios รัฐบาลญี่ปุ่นยุคปฏิรูปเมจิ ถือว่า ภาพยนตร์คือเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองในฐานะวัฒนธรรมแห่งความสำเร็จเพื่อสร้างวีรชนที่มุ่งมั่นกับการสร้างสังคมใหม่ที่ทั้งทำให้ชาติทัดเทียมโลก และมีอัตลักษณ์พร้อมกันไป ทำให้ไม่สามารถแยกภาพยนตร์ยุคแรกของญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นแนวไหน และวิธีการนำเสนอแบบใด ออกจากจุดมุ่งหมายทางการเมืองได้เลย โดยเฉพาะบทบาทของสตูดิโอโชชิกุที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่ Chapter




2. Cinema, Nationalism and Empire แม้ภาพยนตร์ญี่ปุ่นจะแสดงออกซึ่งปัจเจกบุคคลที่โดดเด่น แต่การเชื่อมโยงบุคลิกของเขาในฐานะสัญลักษณ์ทางสังคม และเป้าหมายการสร้างชาติมีความเกี่ยวพันลึกซึ้ง โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของวีรชน (นักดาบซามูไร) ที่ปลีกวิเวกกับการต่อสู้ตัวเอง เป็นความพยายามใช้สุนทรียะเพื่อส่งสัญญะให้กับสังคมที่เป็นตัวของตัวเองในฐานะตัวแทนของลัทธิชาตินิยมญี่ปุ่นที่ถือว่า ชาติทั้งชาติคือครอบครัวเดียวกัน Chapter




3. Cinema and the State ภาพยนตร์ยุคสงครามโลกครั้งที่สองภายใต้กฎหมายภาพยนตร์ ค.ศ.1939 สะท้อนกรอบที่คับแคบของนโยบายแห่งชาติที่ถูกกำหนดโดยรัฐที่เตรียมพร้อมเข้าสงครามเต็มรูป เพื่อนำเสนอภาพที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการโฆษณาชวนเชื่อให้โลกมองคนญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อสิ้นสงครามกรอบนี้ก็ถูกทำลายลงเป็นกรอบของเสรีภาพที่เปล่งประกายอย่างมากในเวลาต่อมา Chapter




4. Cinema and Humanism ภาพยนตร์หลังสงครามที่เสรีภาพของนักสร้างถูกปลดปล่อยออกจากกรอบอุดมการณ์แห่งรัฐ สร้างอัจฉริยภาพแห่งวงการระดับโลกขึ้นอย่างโดดเด่น อย่างโอซุ กุโรซาว่า หรืออื่นๆ โดยเนื้อหาของภาพยนตร์มีลักษณะมนุษยนิยมมากขึ้น สะท้อนความสูญเสียจากสงคราม หายนะของมนุษย์ที่เป็นปัจเจก สิทธิสตรี และการปรับตัวเข้าสู่โลกใหม่ Chapter




5. Cinema and Trangression อิทธิพลของฮอลลีวูดทำให้ภาพยนตร์ญี่ปุ่นหลังยุคทองของอัจฉริยะเปลี่ยนไปเน้นบทบาทของวีรชนเดินดินที่ดิบเถื่อน หรือละเมิดกฎกติกาเก่าๆ ของสังคมมากขึ้น และยิ่งความสามารถทำรายได้ของภาพยนตร์ลดลงต่อเนื่อง เพราะอิทธิพลของโทรทัศน์กับคนดูมากขึ้นเท่าใด การดิ้นรนอยู่รอดของวงการภาพยนตร์ก็ยิ่งผลักดันให้นักสร้างหันไปทำภาพยนตร์ลามกหรือเนื้อหาหมกมุ่นทางเพศมากขึ้นเป็นทวีคูณ Chapter




6. Genres and Gender นับแต่ยุคสงครามเวียดนามเป็นต้นมา ภาพยนตร์ที่นำเสนอเนื้อหาที่เป็นเรื่องราวของผู้คนในชีวิตประจำวันเริ่มเข้ามาแทนที่อุดมคติเก่าๆ อย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างคนต่างเพศ หรือเพศเดียวกัน พร้อมกับการหลบเข้าสู่โลกแฟนตาซีส่วนตัวมากขึ้น เพื่อแสดงความรู้สึกขบถที่ไร้เป้าหมายกับคุณค่าในสังคมร่วมสมัยอย่างเปิดเผย แต่รูปแบบที่นำเสนอกลับมีความรุนแรงน่าเป็นห่วงมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกันกับเกมคอมพิวเตอร์ร่วมสมัยนั่นเอง R e f l e c t i o n s : Cross-Cultural Perspectives or Do Japanese Films Exist? คำถามใหญ่ที่ท้าทายวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นในอนาคตก็คือ ในเมื่อระยะห่างระหว่างกาละ/เทศะเหลือน้อยลงเพราะเทคโนโลยีสารสนเทศมีพัฒนาที่ก้าวไกล ซึ่งทำให้โอกาสที่จะเกิดวัฒนธรรมข้ามพรมแดนในรูปของหมู่บ้านโลกแบบที่มาร์แชล แมกลูฮัน เคยเสนอเอาไว้ ภาพยนตร์ญี่ปุ่นจะดำรงอยู่ได้ในฐานะส่วนหนึ่งของธุรกิจโลก หรือในฐานะธุรกิจเพื่อสร้างอัตลักษณ์จำเพาะ ซึ่งความท้าทายนี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์

ไม่มีความคิดเห็น: